ชื่อเรื่อง : การสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ชุมชนอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
นางเรวดี คงหนู และนางสาวณาตยา ละงู
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาสถานการณ์การมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด 2)สร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดในชุมชนอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ใช้กระบวนการการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประยุกต์ใช้หลักการและขั้นตอนการดำเนินงานตามแนวคิดของเดมมิ่ง (Deming) ตามวงจร PDCA แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 ศึกษาสถานการณ์การมีส่วนร่วมของชุมชนอ่าวลึกใต้ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดในพื้นที่ จำนวน 14 ราย คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแนวทางการสนทนากลุ่ม นำข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ระยะที่ 2 การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยนำข้อมูลที่ได้จากระยะที่ 1 เสนอแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในชุมชน ใช้กระบวนการ PDCA ในการปรับปรุงกิจกรรม/กระบวนการฯ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน คัดเลือกโดยการจับฉลากแบบไม่คืนที่ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด ผู้นำชุมชน/ผู้นำศาสนา อบต. อสม. กู้ชีพกู้ภัย รวม 46 คน ระยะที่ 3 ทดลองใช้กิจกรรม/กระบวนการฯ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในระยะที่ 2 และระยะที่ 4 ประเมินผลกิจกรรม/กระบวนการฯ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในระยะนี้ได้แก่ แบบสอบถามการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที
ผลการดำเนินงานวิจัยพบว่า 1)สถานการณ์การมีส่วนร่วมของชุมชนอ่าวลึกใต้ อยู่ในระดับปานกลาง ด้านการมีส่วนร่วมที่มากที่สุดคือการร่วมกันใช้ผลประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด 2)การมีส่วนร่วมที่ชุมชนอ่าวลึกใต้ต้องการพัฒนาคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ชุมชน โดยนำเสนอในส่วนของกิจกรรมเพื่อป้องกันการเกิดหัวใจขาดเลือด 3)หลังการวิจัยพบว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนอ่าวลึกใต้ในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ.005
คำสำคัญ: การมีส่วนร่วมของชุมชน