- ชื่อเรื่อง พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
- ประเภทผลงาน การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาลและเครือข่าย
- ชื่อ จิราภรณ์ นกแก้ว เพ็ญศรี ทวีทอง ผู้ป่วยในชาย โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่
- หลักการและเหตุผล
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขซึ่งมีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 มีประชากรวัยผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวานทั่วโลก ประมาณ 366 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2555 มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 371 ล้านคน และมีการพยากรณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็น 552 ล้านคน ในปี พ.ศ..2573 (Whiting,.Guariguata,.Weil,.&.Shaw,.2011) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลให้เกิดความเสียหายระยะยาวการสูญเสียหน้าที่และความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในระบบประสาทตา ไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด (วราภณ วงศ์ถาวรารัตน์, 2555) ทำให้เกิดความพิการ เสียชีวิตหรือเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลอ่าวลึกมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปีนับจากปี 2558 เพิ่มจาก 2,174 เป็น 2,465 คน ในปี 2560 จำนวนผู้ป่วยที่มารักษานั้นส่วนใหญ่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ร้อยละ 72 (เวชสถิติโรงพยาบาลอ่าวลึก, 2560) ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้เพื่อนำผลการศึกษามาใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลอ่าวลึกต่อไป
- เป้าหมายวัตถุประสงค์และ ตัวชี้วัด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ จำแนกตาม เพศ อายุ และระยะเวลาที่เป็น
- การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ใช้แนวคิดการดูแลตัวเองของโอเร็ม (Orem,1995) บุคคลเมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพก็จะปรับตัวในการดูแลตนเองให้เหมาะสม
- วิธีดำเนินงาน ใช้กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับ HbA1C มากกว่า 7 % ในปี 2560ในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลอ่าวลึก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จำนวน 159 คน คำนวณกลุ่มตัวอย่างโดยใช้โปรแกรม G*Power สุ่มตัวอย่างโดยวิธีหยิบฉลากแบบไม่คืน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปและพฤติกรรมการดูแลตนเอง ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน และหาค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .70 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วยเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที และ one way ANOVA
- ผลการดำเนินการและนำไปใช้
1. พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลอ่าวลึกอยู่ในระดับปานกลาง (M= 1.85, SD = 0.20)
2. พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ที่มีอายุต่างกันมีพฤติกรรมการดูแลตนเองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สำหรับเพศและระยะเวลาที่เป็นโรคไม่แตกต่างกัน
การนำผลการวิจัยไปใช้
- จากผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านการจัดการความเครียดมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดดังนั้นควรมีกิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมกลุ่มเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีแนวทางจัดการความเครียด
- ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ที่มีอายุต่างกันมีพฤติกรรมการดูแลตนเองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้นพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้โมเดลต้นแบบมาจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น