Skip to content

กล่องถนอมฟันเทียม

กล่องถนอมฟันเทียม

มาลินี ยงยุทธ์

โรงพยาบาลอ่าวลึก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

บทคัดย่อ

             จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทันตบุคลากรจึงต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ โดยปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือการสูญเสียฟันซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหาร อย่างไรก็ตามหลังใส่ฟันเทียมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใส่ฟันเทียมเวลานอน จึงส่งผลให้เกิดรอยโรคในช่องปากหลังใส่ฟันเทียม ได้แก่ เยื่อบุช่องปากอักเสบจากฟันเทียม(denture stomatitis)ซึ่งพบได้ร้อยละ 11-67ของผู้ที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก การติดเชื้อราในช่องปาก (oral candidiasis) จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจัดทำกล่องถนอมฟันเทียมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมอย่างถูกต้องโดยมีรูปแบบเป็นกล่องสำหรับจัดเก็บฟันเทียมพร้อมคำแนะนำและรูปภาพการดูแลช่องปากและฟันเทียม การปฏิบัติตัวเมื่อมีปัญหาหลังใส่ฟันเทียมที่ชัดเจน เข้าใจง่ายพร้อมช่องทางติดต่อฝ่ายทันตกรรมเมื่อมีปัญหาหลังการใส่ฟัน โดยนำไปทดลองใช้ในผู้สูงอายุที่ได้รับการใส่ฟันเทียมที่โรงพยาบาลอ่าวลึกช่วงเดือน สิงหาคม 2560 – มีนาคม 2561 จำนวน 21 คน อายุเฉลี่ย 69.7 ปีเป็นฟันเทียมทั้งปาก 15คน ฟันเทียมบางส่วน 6 คน เก็บข้อมูลโดยใช้ แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียม แบบตรวจสุขภาพช่องปากและแบบประเมินความพึงพอใจ พบว่าหลังใช้กล่องถนอมฟันเทียมผู้สูงอายุทุกคน(ร้อยละ100)มีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมถูกต้อง ผลการตรวจสุขภาพช่องปากไม่พบรอยโรคในช่องปากที่เกิดจากฟันเทียมในผู้สูงอายุทุกราย ผู้สูงอายุมีความพึงพอใจต่อกล่องถนอมฟันเทียมมากที่สุดในด้านการนำไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ95.2 และพึงพอใจในภาพรวมที่ร้อยละ 95.2 เช่นกัน   กล่องถนอมฟันเทียมช่วยป้องกันการเกิดรอยโรคในช่องปากจากฟันเทียมและทำให้การเข้าถึงบริการทันตกรรมเมื่อมีปัญหาหลังการใส่ฟันเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว

คำสำคัญ: ผู้สูงอายุ, ฟันเทียม

กล่องถนอมฟันเทียม

ทพญ.มาลินี ยงยุทธ์

โรงพยาบาลอ่าวลึก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่   E-mail: malinee38631@gmail.com

บทนำ

             จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทันตบุคลากรจึงต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุโดยปัญหาสุขภาพช่องปากที่สำคัญในผู้สูงอายุคือการสูญเสียฟันซึ่งส่งผลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามหลังใส่ฟันเทียมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใส่ฟันเทียมเวลานอน การใส่ฟันเทียมที่ไม่สะอาด จึงส่งผลให้เกิดรอยโรคในช่องปากหลังใส่ฟันเทียม ได้แก่ เยื่อบุช่องปากอักเสบจากฟันเทียม(denture stomatitis)ซึ่งพบได้ร้อยละ 11-67ของผู้ที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก การติดเชื้อราในช่องปาก (oral candidiasis) โดยปกติหลังใส่ฟันเทียมทันตแพทย์จะมีการให้คำแนะนำในการดูแลช่องปากและฟันเทียมแต่พบว่าผู้สูงอายุมักไม่เข้าใจหรือหลงลืมคำแนะนำดังกล่าวทำให้ไม่สามารถดูแลช่องปากหลังใส่ฟันเทียมได้อย่างถูกต้อง ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลอ่าวลึก เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจัดทำกล่องถนอมฟันเทียม

วัตถุประสงค์ (Objectives)

1.เพื่อให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมอย่างถูกต้อง

2.เพื่อให้ผู้สูงอายุมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อมีปัญหาภายหลังการใส่ฟันเทียม

วิธีการดำเนินงาน

            ทำการจัดทำกล่องถนอมฟันเทียมโดยใช้กล่องพลาสติกใสชนิดใส่อาหาร(food grade)ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง10 เซนติเมตร สูง 5 เซนติเมตรมีฝาปิดสนิท เปิดปิดง่าย ออกแบบสติกเกอร์คำแนะนำพร้อมรูปภาพการดูแลฟันเทียมและช่องปาก การปฏิบัติตนเมื่อมีปัญหาหลังใส่ฟันเทียมพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อฝ่ายทันตกรรมติดไว้บนฝากล่องและบริเวณข้างกล่อง จากนั้นให้ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านฟันเทียม พยาบาลที่ทำงานด้านผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุทำการประเมินและให้ให้ข้อเสนอแนะจากนั้นทำการปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้จริง

           จากนั้นนำไปทดลองใช้ในผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมที่โรงพยาบาลอ่าวลึกช่วงเดือน สิงหาคม 2560 – มีนาคม 2561 จำนวน 21 คนเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียม แบบตรวจสุขภาพช่องปากและแบบประเมินความพึงพอใจต่อกล่องถนอมฟันเทียม

ภาพกล่องถนอมฟันเทียม

ผลการศึกษา

           พบว่าผู้สูงอายุที่ทดลองใช้กล่องถนอมฟันเทียมเป็นเพศชาย 5 คน หญิง 16 คน อายุเฉลี่ย 69.7 ปี ชนิดของฟันเทียมที่ใส่เป็นฟันเทียมทั้งปาก15 คนฟันเทียมบางส่วน 6 คน หลังใช้กล่องถนอมฟันเทียมพบว่าผู้สูงอายุทุกคน(ร้อยละ100)มีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมถูกต้อง ผลตรวจสุขภาพช่องปากไม่พบรอยโรคในช่องปากที่เกิดจากฟันเทียมในผู้สูงอายุทุกราย ผลประเมินความพึงพอใจหลังใช้กล่องถนอมฟันเทียมพบว่าผู้สูงอายุมีความพึงพอใจมากที่สุดในด้านการนำไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ95.2  และพึงพอใจในภาพรวมที่ร้อยละ 95.2(ตารางและแผนภูมิที่1)       

ตารางที่1 แสดงร้อยละความพึงพอใจต่อกล่องถนอมฟันเทียม

หัวข้อประเด็นความพึงพอใจ ร้อยละความพึงพอใจ
1.ด้านเนื้อหาของกล่องถนอมฟันเทียม 90.5
2.ด้านรูปภาพที่ใช้ประกอบ 85.7
3.ด้านรูปแบบและขนาดของกล่องถนอมฟันเทียม 90.5
4.ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ 95.2
5.ด้านภาพรวมของกล่องถนอมฟันเทียม 95.2

แผนภูมิที่1 แสดงร้อยละความพึงพอใจต่อกล่องถนอมฟันเทียม

อภิปรายและสรุปผล

          กล่องถนอมฟันเทียมทำให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการดูแลช่องปากและฟันเทียมอย่างถูกต้องซึ่งช่วยป้องกันการเกิดรอยโรคในช่องปากจากฟันเทียมรวมถึงมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อมีปัญหาหลังใส่ฟันเทียม นอกจากนี้ยังมีช่องทางการเข้าถึงบริการทันตกรรมหลังใส่ฟันเทียมได้สะดวก รวดเร็ว

เอกสารอ้างอิง

– บุญชู สุรีย์พงษ์. แนวทางปฏิบัติทางทันตกรรมสำหรับทันตแพทย์และทันตบุคลากร.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพ:บริษัท เอเตอร์ จำกัด ; 2557

– สุปราณี ดาโลดมและคณะ.ชุดความรู้การส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพ:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณืการเกษตรแห่งประเทศไทย ; 2554

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *